Support material คือโครงสร้างที่เครื่องพิมพ์ 3 มิติสร้างขึ้นมาเพื่อช่วย "ค้ำยัน" ชิ้นงานของเราในกรณีที่ชิ้นงานมีส่วนที่ยื่นออกมากลางอากาศ (overhang) โดยธรรมชาติของ 3D printing แบบ FDM นั้น หากชิ้นงานมีส่วน overhang ที่มีองศาชันเกินไป พลาสติกที่ฉีดออกมาจะไม่มีอะไรรองรับอยู่ข้างล่าง ทำให้เส้นพลาสติกย้วยลงตามแรงโน้มถ่วง (เช่นรูปโมเดลตัว H และตัว T ข้างบน) และผิวชิ้นงานจะไม่เรียบ ทางแก้ก็คือพิมพ์ support ไปพร้อมกับการพิมพ์ชิ้นงาน เพื่อรองรับส่วน overhang ซึ่งการพิมพ์ support ทำได้สองแบบดังนี้ครับ
1. การพิมพ์ Support แบบใช้หัวฉีดเดียว
เป็นการพิมพ์ support ด้วยวัสดุเดียวกันกับวัสดุที่พิมพ์ชิ้นงาน เช่นหากใช้ PLA ก็พิมพ์ทั้งชิ้นงานและ support ด้วย PLA จากหัวฉีดเดียวกันไปเลย เมื่อพิมพ์เสร็จแล้วก็สามารถใช้มือแกะ support ออกได้ ข้อดีก็คือสะดวก ไม่ต้องใช้เครื่องพิมพ์แบบสองหัวฉีด และไม่ต้องใช้วัสดุเพิ่มเติม อย่าง HIPS หรือ PVA จึงไม่ต้องมานั่งรอ support ละลาย ส่วนข้อเสียคือผิวของชิ้นงานจุดที่แตะกับ support อาจจะเป็นรอยขรุขระได้ อาจต้องนำมาขัดแต่งภายหลัง
2. การพิมพ์ Support แบบใช้สองหัวฉีด
วิธีนี้ใช้ได้กับเครื่องพิมพ์ที่มีสองหัวฉีดเท่านั้น หลักการคือทั้งสองหัวฉีดทำงานสลับกัน หัวฉีดนึงจะพิมพ์ตัวชิ้นงานด้วยวัสดุหลัก (เช่น ABS หรือ PLA) และอีกหัวฉีดจะพิมพ์วัสดุ support ซึ่งมีสองชนิดหลักๆคือ HIPS (High Impact Polystyrene นิยมใช้คู่กับ ABS) และ PVA (Polyvinyl Acetate นิยมใช้คู่กับ PLA) เมื่อพิมพ์เสร็จแล้วสามารถนำชิ้นงานไปแช่ในน้ำยาเพื่อทำการละลาย support material ทิ้ง เหลือไว้แต่ชิ้นงานที่ต้องการ โดย HIPS จะละลายได้ใน limonene (สารเคมีที่ใช้ทำสบู่ น้ำหอม มีกลิ่นส้ม) ส่วน PVA สามารถละลายได้ในน้ำเปล่า
ข้อดีของวิธีนี้คือสามารถได้พื้นผิวชิ้นงานที่เรียบเนียนกว่าวิธีแรก สามารถพิมพ์ชิ้นงานที่ซับซ้อนได้ง่ายกว่า ส่วนข้อเสียคือใช้เวลามากกว่า เนื่องจากมีสองหัวฉีดที่ต้องทำงานสลับกัน และใช้วัสดุ support และสารละลายเพิ่มเติมซึ่งมีราคาแพง (โดยเฉพาะ PVA และ limonene) นอกจากนี้การละลายวัสดุ support ยังใช้เวลานานอีกด้วย อาจใช้เวลาหลายชั่วโมงหรือเป็นวันกว่าจะละลายได้ทั้งชิ้น
การพิมพ์สองหัวฉีด โดยวัสดุหลักเป็น ABS (น้ำเงิน) และวัสดุ support เป็น HIPS (ขาว)
ไม่ทราบว่าผมจะสร้างไฟล์สำหรับ support ชิ้นงานต่างๆยังไงได้บ้างครับ